เสวนาอ่านมนุษย์ : ความผิดพลาด การยอมรับ บทเรียนชีวิต

ถอดความงานเสวนากิจกรรมอ่านมนุษย์ วันที่ 21 ตุลาคม 2565 ภายในงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 27 ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ จัดโดยธนาคารจิตอาสา ความสุขประเทศไทย ร่วมกับสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ผู้เข้าร่วมเสวนา อ.โชติศักย์ กิจพรยงพันธ์ หัวหน้าโครงการอ่านมนุษย์ คุณดีน วรเชษฐ์ หนังสือมนุษย์ คุณปัท ปัทมพร และคุณปู ปริยกร ผู้อ่านหนังสือมนุษย์ ดำเนินเสวนาโดย ดร.สรยุทธ รัตนพจนารถ

ทำไมจึงจัดงานมนุษย์ขึ้นมา

อ.โชติศักย์ : ปัจจุบันความหลากหลายมันเยอะขึ้น มันมีแง่ดี แต่ในอีกแง่หนึ่งมันทำให้เราพยายามทำยังไงให้เรารู้สึกว่าง่าย อย่างเช่นพูดถึงงู ซึ่งมันจะมีหลายชนิดมาก แต่ว่าผมที่เป็นเด็กเมือง เวลาที่พูดถึงงู เราคิดว่ามันมีพิษหมด เราถือว่าอันตรายหมด นี่คืองูของเรา แล้วทีนี้พอมาเป็นระดับของเราที่อยู่ในสังคมมนุษย์ เป็นคนเหมือนกัน แค่จะมีคำบางอย่าง เช่น คนแก่ป้าข้างบ้าน เด็กหลังห้อง มันจะชุดความเชื่ออะไรมาสักอย่างในคำเหล่านี้ ซึ่งผมตอนโตขึ้นแล้วพบว่ามันไม่จริง อย่างเช่น งูมันมีหลายชนิด บางชนิกมันก็ไม่มีพิษ บางชนิดมันก็ไม่ชอบกัดคนด้วยซ้ำ แล้วสิ่งที่เราเรียกกันมา แล้วตีตราคน เช่น ตุ๊ด กะเทย เราเล่นเขาแรงมาก เพราะเรารู้ว่ามันไม่ใช่กระเทยทุกคนจะเป็นแบบนี้ หรือไม่ใช่คนตาบอดทุกคนที่ต้องร้องเพลงเพราะ มันสำคัญและจำเป็นมากที่เราจะทันบางอย่างที่อยู่ในความคิดของเรา เพราะบางครั้งการตัดสินที่มันเกิดขึ้น มันไวมาก แม้กระทั่งกับคนในบ้านของเราก็ตาม บางทีมาในเชิงพฤติกรรม ตื่นสาย คือพวกขี้เกียจ เพราะขี้เกียจก็ไม่ทำการทำงาน ไม่ยอมหาเงิน มันมาเป็นลูกโซ่ความคิดเลย ที่มันจะดีแค่ไหนถ้าเราสามารถทำให้คนรักกลับมาได้ยินความเป็นมนุษย์ของกันและกัน กลับมาได้ยินว่าความคิดของเราที่มันอยู่ในหัวมันไม่ใช่ความจริง ความจริงคือสิ่งที่เราต้องฟังตรงหน้าต่างหาก 

มันจะดีแค่ไหนถ้าเราสามารถทำให้คนรักกลับมาได้ยินความเป็นมนุษย์ของกันและกัน กลับมาได้ยินว่าความคิดของเราที่มันอยู่ในหัวมันไม่ใช่ความจริงจริง ความจริงคือสิ่งที่เราต้องฟังตรงหน้าต่างหาก 

อ.โชติศักย์ กิจพรยงพันธ์

ทำไมถึงสมัครมาเป็นคนอ่าน คาดหวังอะไร ได้ตามความคาดหวังหรือไม่

คุณปัท : ที่ได้มาสมัครงานมนุษย์ เพราะเห็นเพจแชร์ในหน้า Facebook แล้วเราก็รู้สึกว่าเป็นงานที่น่าสนใจ ปกติเป็นคนชอบอ่านหนังสือ แล้วเราก็เป็นครูด้วย แล้วก็พยายามบอกเด็กๆว่าการอ่านเป็นสิ่งที่ดีและพยายามให้เด็กอ่านหนังสือ แต่บางทีหนังสือก็ไม่ได้เป็นสิ่งที่ตอบโจทย์ เราเห็นงานอ่านมนุษย์ เรารู้สึกว่าเราพอจะเดาได้อยู่เหมือนกันว่าเราอาจจะได้ไปพบเจอผู้คน เราก็เลยตัดสินใจสมัครมา ความคาดหวังของเราก็คือเราอยากได้มาเรียนรู้ประสบการณ์ใหม่ ได้ความรู้สึกนึกคิดใหม่ แล้วก็ได้เรียนรู้ชีวิตของคนอื่น แต่ผลที่ได้มันเกินความคาดหวัง เพราะว่าสิ่งที่เราหวังว่าเราจะได้เรียนรู้ได้ให้กำลังใจคนอื่น มันเกินความคาดหวังตรงที่เราไม่ได้มาเป็นผู้ให้ วันนี้เราเดินทางมาเป็นผู้รับ รับทั้งกำลังใจและความคิดใหม่แล้วก็รับทัศนคติใหม่ รับทัศนคติใหม่ไม่พอ เราเปลี่ยนทัศนคติเดิมของเราไปด้วย บางทีเราสอนนักเรียนว่าอย่าตัดสินคนอื่นแต่เรานี่แหละคือนักตัดสิน บางทีเราสอนเขาว่าอย่าตัดสินเรากำลังตัดสินเขาอยู่ด้วยซ้ำว่าเขาคิดผิด เขาคิดไม่ได้และเขาคิดไม่ถูก ซึ่งพอเราการเดินทางมาวันนี้เราได้รู้ว่าบางทีเราเผลอ เราพลั้งเผลอที่จะตัดสินคนอื่นอยู่เสมอๆในขณะที่เรายังไม่ได้รู้จักเขาจริงๆเลย

คุณปู : ได้รับเชิญให้มาเป็นผู้อ่าน ตอบตกลงโดยไม่คิดนาน ในความคิดของตัวเองรู้สึกว่าถ้ามนุษย์เป็นหนังสือเล่มนึง คงจะเป็นหนังสือที่อ่านยากที่สุด ที่ตอบตกลงส่วนหนึ่งรู้สึกว่าตัวเองอยากจะฝึกเป็นคนอ่าน ซึ่งการอ่านมนุษย์สิ่งที่รู้สึกว่าสำคัญที่สุดคือการเป็นผู้ฟังที่ดี ก็เลยรู้สึกว่าการมางานครั้งนี้ตัวเองได้เรียนรู้ที่จะเป็นผู้ฟังที่ดี แล้วสิ่งที่ได้รับและก็ได้ผลคุ้มค่าและก็ประทับใจมากค่ะ 

ทำไมถึงสมัครมาเป็นหนังสือ คาดหวังอะไร ได้ตามความคาดหวังหรือเปล่า

คุณดีน : ได้ตามความคาดหวังหวังครับ วันนี้ผมก็เป็นหนังสือให้ครูเขาอ่าน ครูเขาสอนนักเรียนมัธยม ซึ่งผมเองก็ชีวิตหักเหตอนมัธยมปีที่ 1 เหมือนกัน ผมเรียนมัธยม 1, 2 โรงเรียนไม่จบเลยสักโรงเรียน หลังจากออกจากโรงเรียนประตูคุกก็เปิดรับผมทันที ผมติดตั้งแต่ออกจากโรงเรียนจนผมอายุ 21 ผมก็พยายามเอาของตัวเองมาว่าตัวเองผ่านอะไรมาแบบไหน ทัศนคติตัวเองเคยเป็นยังไง ก่อนที่เราจะเปลี่ยนทัศนคติตัวเองได้ ก่อนที่เราจะเปลี่ยนมุมมองตัวเองได้ ผมพยายามเอาออกมาให้มากที่สุด เพื่อให้ครูเขาก็เอาไปให้กับน้องๆ อย่างน้อยแค่น้องหนึ่งในห้องนั้นคิดได้ผมก็ดีใจแล้วครับ ขอแค่ไม่มีเยาวชนที่ก้าวพลาดเพิ่ม ผมก็รู้สึกว่าเรื่องราวของผมได้เป็นครูของครู มันเป็นอะไรที่ภูมิใจ แต่มันพูดความรู้สึกไม่ถูก

ขอแค่ไม่มีเยาวชนที่ก้าวพลาดเพิ่ม ผมก็รู้สึกว่าเรื่องราวของผมได้เป็นครู มันเป็นอะไรที่ภูมิใจ

คุณดีน วรเชษฐ์

คุณภาพการฟังของคุณครูเขาเป็นอย่างไรบ้าง

คุณดีน : ดีเลยครับ การแลกเปลี่ยนหรือว่าคำถาม การรับฟังของครูเขามีหลายมุม เขาไม่ได้มีแค่มุมเขาอย่างเดียวที่จะมาถามเรา เขามีมุมที่เขาอยากเอามุมของเราไปปรับในตัวเขาด้วย และอยากเอามุมของเราไปปรับในห้องเรียนเช่นกัน 

เรารู้ได้อย่างไรว่าคุณครูเขาตั้งใจฟัง

คุณดีน : เพราะว่าในระหว่างที่เราพูด คุณครูมักจะมีคำถามที่ไปในทางที่เรากำลังพูดอยู่เสมอ คุณครูเขาอยู่ในทางของเราตลอด คุณครูไม่ได้ถามออกนอกทางเลย มันเลยทำให้ผมมั่นใจว่าครูเขาตั้งใจมาเพื่อได้รับประโยชน์จริงๆ

ฟังประสบการณ์จากคุณครูเป็นไงบ้างจากการคุยกับน้องดีน

คุณปัท : ในขณะที่เขาบอกว่าเราตั้งใจฟัง เขาก็เป็นผู้พูดที่ตั้งใจพูดมากๆ ตอนแรกเราเข้าไปทักทายเขา แล้วก็ถามอายุเขาก่อน เพราะเรารู้สึกว่าเราเกร็งๆ เรากลัวว่าเราจะใช้คำถามที่ทำให้เขารู้สึกไม่ดี เราก็เลยแนะนำตัวเองว่าเรียกเราพี่ก็ได้ เพราะว่าเราห่างกันไม่เท่าไหร่เอง แต่ว่าสิ่งที่เราผิดคาด เขาใช้ภาษาในการสื่อสารได้แบบเป็นผู้ใหญ่ มีความคิด มีทัศนคติ จนเรารู้สึกว่าเราไม่ควรประมาทหรือว่าไม่ควร judge เขาตั้งแต่เห็นเขา ทำให้เรา drop ตัวเองให้เป็นวัยรุ่นลงสักนิดนึง ใช้ภาษาวัยรุ่นลงสักหน่อยนึง พอเรานั่งเรารู้สึกว่าเราเป็นตัวเองได้เต็มที่เลย ในขณะที่เราเป็นครูภาษาไทย เรารู้สึกว่าคำพูดคำจาหรือการสื่อสารของเขา เขาให้เรามาร้อยเรารับได้ร้อยเลยค่ะ เขาสื่อสารได้ดีมากๆ แล้วก็เป็นเรียงลำดับชีวิต วิธีการเล่าของเขาได้ดีมาก เขาตั้งใจมากๆที่จะถ่ายทอดตั้งแต่วัยเยาว์ของเขา จุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาก้าวพลาด แล้วก็จุดเปลี่ยนในชีวิตที่ทำให้เขาได้ค่อยๆ ปลดปล่อยตัวเองขัดเกลาตัวเองจนออกมาเป็นน้องดีนที่นั่งอยู่กับเราในวันนี้ค่ะ

ภาพจำที่เรามีเกี่ยวกับเด็กสถานพินิจมันเป็นอย่างไรบ้าง ก่อนที่จะมาคุยกัน

คุณปัท : ภาพจำที่อธิบายออกมาเป็นภาพได้ชัดที่สุด เอาแค่วันนี้เลย เราเดินมาในงานหนังสือ ถ้าครูปัทเจอน้องดีน เราก็จะกำใส่กระเป๋าให้แน่นที่สุดค่ะ ก็คือภาพจำกับเด็กสถานพินิจตอนที่เรายังไม่ได้เปิดอ่านหนังสือ แล้วตัดสินหนังสือนั่นคือภาพจำเก่า แต่ว่าตอนนี้ไม่มีแล้วค่ะ 

คุณปู : ภาพของเด็กสถานพินิจสำหรับตัวเองเหมือนเด็กคนนึงที่อาจจะแค่ก้าวพลาดด้วยเหตุผลบางอย่าง ซึ่งเราไม่อาจรู้ได้ แต่ถ้ารับฟังเราจะเข้าใจถึงการกระทำของเขา ก็เลยไม่ได้มองภาพภายนอกว่าเขาดูน่ากลัวหรือว่าอะไร แค่รู้สึกว่าเขาก็คือเด็กคนนึงที่ต้องการคนเข้าใจเขาแล้วก็ให้โอกาสเขาค่ะ

คุณปูได้จับคู่กับหนังสือเล่มไหน

คุณปู : ได้จับคู่กับน้องแรงงานพม่านะคะ เป็นหนังสือที่น่าจะทำให้ตัวเองใจฟูกลับบ้านวันนี้เลย 

ถามครูปัทเวลาที่ได้ยินคำว่าแรงงานพม่า ภาพจำในหัวเรามันมีอะไรบ้าง

คุณปัท : ภาพที่เราเห็น ก็คือผู้ใช้แรงงานที่โดนใช้แรงงานอย่างหนัก ทำงานตั้งแต่เช้ายันเย็นๆ ผิวของเขาก็จะคล้ำถ้าไม่ได้เป็นจากกรรมพันธุ์ ก็จะเป็นไหม้แดดดำแดด 

คุณปู : ที่บ้านก็เคยทำงานอยู่กับพวกรับเหมา ก็จะเห็นแรงงานพม่าเยอะ ก็จะมีความหลากหลาย แต่ว่าเอาเป็นว่าวันนี้ที่เข้ามาเจอหนังสือเล่มนี้ ตอนแรกเข้ามาก็เห็นแต่น้องด้านหลัง ก็ไม่ได้คิดที่จะต้องสร้างภาพอะไร แต่ตอนที่เขาเริ่มให้เรามาประจันหน้ากับหนังสือก็กลัวนิดนึง เพราะว่าบุคลิกน้องเขาจะแบบนิ่งๆ เราอาจจะมี image เดิมว่าพอพูดถึงแรงงานพม่า จะได้รับข่าวสารที่ไม่ค่อยดี เหมือนกับจะมีความโหดๆ และน้องเขาก็บุคลิกแบบนิ่งมาก ก็คิดว่าจะต้องเข้าหาน้องโดยการละลายพฤติกรรมอะไรบ้าง ก่อนที่จะให้น้องเขาคุย ก็เลยแนะนำตัวเองว่าคือพี่ปู แล้วก็ทำอะไร  ที่เหลือก็ให้น้องเขาแนะนำตัวเอง แต่ตอนแรกคือน้องเขาอยากจะแนะนำตัวเองมากเลยคือแบบเป็นพิธีการ แต่ก็บอกว่าพี่ไม่ได้มาสัมภาษณ์นะเรา ถือว่าเรามาแลกเปลี่ยนมาคุยกันนะแบบสบายๆให้รู้สึกว่าบรรยากาศมันดู relax ขึ้น  เขาก็จะค่อยๆเล่าไปเรื่อยๆ แต่ว่าสิ่งที่พบก็คือหลังจากที่คุยไปได้สักพัก บุคลิกของน้องเขาจะเปิดกับเรามากขึ้น แววตาของน้องจากที่แข็งๆ เขาจะเริ่มแบบมีประกายวิบวับวิบวับ ให้เรารู้สึกกล้าที่จะสบตา แล้วก็คิดว่าใต้แมสคงมีรอยยิ้มด้วยบางครั้งที่คุยกัน ก็รู้สึกประทับใจมากค่ะ

เราจำเป็นต้องจัดงานแบบอ่านมนุษย์ไหม เราถึงจะก้าวข้ามภาพลักษณ์ มุมมองที่เราเคยมีกับคนกลุ่มต่างๆ

อ.โชติศักย์ : ไม่จำเป็นครับ บอกตามตรง แต่ว่าเราเปิดใจแล้วเราก็ไม่รีบตัดสินเขา แต่ว่าสถานการณ์ปัจจุบันไม่ว่าด้วยข้อมูลข่าวสารหรืออะไร มันทำให้เราไวมาก ทุกอย่างต้องเร็ว เร็วจนเราไม่ทันว่าบางทีเราตีตราเขาไปแล้ว ในขณะที่เรากำลังอ่านในแง่หนึ่งก็ชวนให้เราได้ช้าลง ได้ยินเขาจริงๆ อย่างน้อยครึ่งชั่วโมง ซึ่งผมเชื่อว่าคนเข้าร่วมกิจกรรมเวลาครึ่งชั่วโมงมันสั้นสำหรับพวกเขา ถามว่าจำเป็นไหม คือไม่จำเป็นครับ แต่ว่าเราเจอหรือเห็นพฤติกรรม เห็นการแต่งกาย สีผิว แล้วเราไปแล้วเกิดความคิดบางอย่างขึ้นมาแล้ว ถ้าเรามาเท่าทันถือว่าโอเคมาก ที่เราไม่ต้องมามีกิจกรรม 

เวลาเราคุยกันเรารู้จักคนตรงหน้าเพิ่มเติม แล้วการคุยมันทำให้เรารู้จักตัวเองเพิ่มขึ้นอย่างไรบ้าง

คุณดีน : สำหรับผมก็เหมือนได้บอกกับตัวเองอยู่เสมอ ในทุกครั้งที่ผมมีการพูดหรือว่ากิจกรรมของทางบ้านกาญจนาหรือว่าที่ไหน ผมมักจะเอาบทเรียนของตัวเองมาพูดบอกตัวเองซ้ำๆว่าพยายามอย่ากลับไปเรียนบทนั้นอีกครั้ง เพราะบทที่ผมเรียนมาผมมั่นใจว่ามันราคาแพงที่สุดในชีวิตผมแล้ว 

คุณปัท : วันนี้มันทำให้เรารู้จักตัวเองมากขึ้น สืบเนื่องมาจากการได้รู้จักกับน้องดีนก่อน เพราะว่าเมื่อกี้ได้แชร์ไปแล้วบ้าง คือน้องดีนบอกว่าผู้ใหญ่ พ่อแม่ หรือครอบครัวในสมัยนี้ ถามเพื่อที่จะเอาคำตอบ แต่มันน้อยมากเลยหรือว่าในชีวิตเขาหรือในช่วงวัยเด้กจะเจอกับคนที่ถามเพื่อที่อยากฟังคำถาม มันย้อนกลับมาด้วยอาชีพของเราเหมือนกับครูหลายๆคน ถ้าใครเคยผ่านการเป็นนักเรียนมาแล้วจะพบว่าครูถามเพื่อจะเอาคำตอบ  เราก็เป็นหนึ่งในนั้นเหมือนกันที่เราถามนักเรียนเพื่อที่จะเอาคำตอบ แต่บางทีเราหลงลืมไปว่าเราควรถามนักเรียนเพื่อฟังคำตอบ เราได้เรียนรู้สิ่งใหม่ว่าเราจะเป็นคนที่ถามเพื่อฟังคำตอบค่ะ 

คุณปู : รู้สึกว่าเรากับน้องคิวหรือหนังสือที่เป็นแรงงานพม่า เราคือมนุษย์เหมือนกัน มีความฝัน มีสิ่งที่จะต้องเผชิญฝ่าฟัน ซึ่งถ้ามาเทียบแล้วจากการที่ได้อ่านหนังสือของน้องเขาฝ่าฟันเยอะกว่าเรามาก แต่ว่าในขณะที่การเล่าของเขา เขาไม่ได้สนใจกับขวากหนามหรืออะไรที่เขาผ่านมาซึ่งเยอะมาก การที่มาอยู่แบบเขามันต้องเจออะไรเยอะ แต่น้องก็จะเล่าแบบชิวมากเลย ในขณะเดียวกันเวลาที่เขาเล่าถึงสิ่งที่เป็นความฝันของเขาคือเขาอยากจะเรียนด้านกฎหมาย ตอนนี้คือทำงานอยู่ NGO เขาอยากทำงานเกี่ยวกับเรื่องสิทธิมนุษยชน ตัวเองก็เลยมีความรู้สึกว่าได้เรียนรู้ บางครั้งถ้าเราถอยตัวเองออกมาเราจะรู้สึกว่ามองปัญหาตัวเองน้อยลง แล้วมีจิตสาธารณะมากขึ้นซึ่งน้องคิวก็ได้สอน แล้วก็รู้สึกว่าเราได้แง่คิดจากเรื่องนี้มากจากการอ่านหนังสือเล่มนี้

มันเป็นสันติภาพเล็กๆที่ไม่ต้องรอให้รัฐบาลประกาศ  แต่มันเกิดขึ้นจากจากการที่เปิดวงนั่งคุยกัน สบตากัน เข้าใจกัน 

คุณทิชา ณ นคร

ผู้ฟังอยากแชร์หรือสะท้อนกับงานครั้งนี้บ้าง

คุณทิชา ณ นคร : จริงๆมา 2 ครั้งแล้ว  ได้รับความเมตตาจากคนจัดให้รอบที่แล้วให้อยู่ในกลุ่มคนที่เป็นผู้อ่าน รอบนี้ตอนสรุปได้อยู่กลุ่มที่เป็นหนังสือ ก็เห็นภาพที่ต่างกัน สามารถประมวลได้ว่ากิจกรรมแบบนี้ เมื่อเราได้นั่งต่อหน้าใครสักคนนึง แล้วก็ได้ยินเสียงของเขา การอ่านหนังสือแบบนี้มันไม่เหมือนกับการอ่านหนังสือที่เป็นเล่มตรงที่ว่าได้เห็นแววตาเขา เห็นความสุขเขา เห็นความเศร้าเขา เห็นความรู้สึกที่ถูกยอมรับ โดยเฉพาะวันนี้ตอนนั่งฟังได้ยินเสียงของน้องแรงงานพม่าที่บอกว่าเขามีความสุขมาก เพราะว่าธรรมดาเขาพูดก็ไม่มีใครฟังแต่ในวันนี้มีคนฟังเขา หรือน้องที่แต่งคอสเพลย์ทำให้เรารู้สึกได้เลยว่าเขาตั้งใจมากที่จะแบ่งปันเพราะเขารู้สึกได้ว่าเขาคงไม่ค่อยได้มีโอกาสบอกใครว่าทำไมเขาถึงแต่งตัวประหลาดแบบนี้  หรือแม้แต่ดีนที่ตั้งอกตั้งใจเอาบาดแผลของตัวเอง เวียนออกคุกเด็กมา 8 รอบแล้ว ความจริงมันต้องซ่อนเอาไว้อย่าบอกใคร แต่ดีนเขาอยากบอกเพราะว่าเขาเชื่อว่าสิ่งที่เขาให้ไปมันจะเป็นภูมิให้กับคนที่ฟังเขาแล้วก็เอาไปใช้ต่อ ตัวเองก็เลยคิดว่าจริงๆแล้วมันเหมือนเป็นงานเล็กๆของคนเล็กๆกลุ่มนึงในที่แห่งนี้หรือที่ไหนก็ได้ที่เราไปจัด แต่ความจริงมันมีความยิ่งใหญ่ที่มากกว่านั้น นี่คือสันติภาพเล็กๆที่เกิดขึ้นในหัวใจของเรา คนอ่านแล้วก็ระหว่างเจ้าของหนังสือ มันเป็นสันติภาพเล็กๆที่ไม่ต้องรอให้รัฐบาลประกาศ  มันเป็นสันติภาพเล็กๆไม่ต้องรอนโยบายของใครทั้งสิ้น แต่มันเกิดขึ้นจากจากการที่เปิดวงนั่งคุยกัน สบตากัน เข้าใจกัน  ซึ่งมันเริ่มขยายผลได้แน่นอนถ้าเราทำอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอในทุกพื้นที่ แล้วก็ตั้งใจจริงกับสิ่งที่เราทำ จริงๆเราก็หวังสันติภาพในระดับที่ประชาคมโลกต้องประกาศ แต่เราลืมไปว่าสันติภาพจริงๆมันอยู่ตรงที่ว่าคนข้างหน้าเราพูดอะไรมาแล้วเราก็สัมผัสได้ อย่างโน๊ตเวลาที่ถูกถามว่าแปลงเพศรึยัง เขารู้สึกว่าคนที่กำลังถามเหมือนกำลังมาถกกระโปรงเรา แต่วันนี้โน๊ตรู้สึกได้ว่าอยากตอบ อยากบอกให้เขารู้ด้วยความเมตตา ก็เลยอยากรู้ต่ออีกว่ามันเป็นเพราะบรรยากาศหรือเป็นเพราะอะไรกันแน่ ซึ่งโน๊ตบอกว่าการที่เราต้องตอบคำถามแบบนี้บ่อยๆทำให้เรารับมือกับมันได้ และบรรยากาศแบบนี้ทำให้โน๊ตเมตตาอยากตอบกับคนที่อยากรู้ว่าแปลงเพศหรือยัง แล้วไม่รู้สึกโกรธเลย ซึ่งมันเป็นรายละเอียดที่คนจัดจะต้องไปถอดรหัสให้พวกเราได้รับรู้ถึงพลังของมันที่มากกว่านี้