เสวนาอ่านมนุษย์ : เพศ ความหลากหลาย ยิ่งต่างกันมากเท่าไร ยิ่งตีตรากันมากขึ้น

สรุปประเด็นเสวนากิจกรรมอ่านมนุษย์ เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 65 ณ งานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 27 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ หัวหน้าโครงการอ่านมนุษย์ อ.โชติศักย์ กิจพรยงพันธ์, ตัวแทนหนังสือมนุษย์  คุณพีร์ ณัชชาพร และคุณชมพิ้งค์ จิรภัทร, ตัวแทนคนอ่านหนังสือมนุษย์ คุณแอน นภาพิไล คุณเปิ้ล สิริลักษณ์

ทำไมเราจึงต้องมาอ่านมนุษย์กัน

อ.โชติศักย์ : จริงๆสังคมไทยมันมีความเข้าใจผิดกันหลายอย่างมากเลย นึกถึงเคสบ้านตัวเอง ผมมีพี่ชายคนนึง ตอนนี้ผมอายุ 30 กว่า ย้อนกลับไปเมื่อ 20 ปีที่แล้ว พี่ผมเป็น Learning Disorder เรียกชื่อไทยคือ บกพร่องทางการเรียนรู้ เขาจะเรียนรู้ช้า ซึ่งพี่ผมจะโดนว่าเป็นไอ้บื้อ เรียนรู้ช้า เรียนไม่รู้เรื่องบ้าง หนึ่งตัวอย่างที่เอาไว้เช็คคือการเขียน ด.เด็ก เขาจะแยก ด.เด็ก กับ ค.ควาย ไม่ออก ประเด็นคือเขาหน้าตาไม่เหมือนดาวน์ซินโดรม เขาหน้าตาปกติแบบผม ดูแทบไม่ออกเลยว่าเป็นเด็กพิเศษ แล้วคนจะเข้าใจผิดเมื่อเขาแสดงพฤติกรรมที่มันแปลกๆ ก็จะถูกเรียกว่าไอ้บื้อ ไอ้โง่ พอเป็นอย่างนี้ทุกวันเขาก็รู้สึกโดนกดทับมากเลย ผมคิดว่านี่เป็นตัวอย่างที่ทำให้นึกได้ว่าสังคมมันมีความไม่เข้าใจอะไรบางอย่าง แล้วตีตรากัน พอเห็นคนมีพฤติกรรมแบบนี้หรือว่าทำท่าทาง เราก็ไปแปะป้ายให้เลย พอผมโตขึ้นมาก็เจออีกว่ามันไม่ใช่แค่เรื่องท่าทาง อย่างลักษณะภายนอก เช่น ผิวเข้ม จะถูกเรียกว่าดำ หรือว่าคนตัวเตี้ยกว่าเราซึ่งเราเอาตัวเองเป็นบรรทัดฐานไปเรียกคนอื่นว่าไอ้เตี้ย ไอ้โย่ง เหล่านี้มีคำตัดสินใจเต็มหมดเลยครับ โดยที่เรายังไม่ได้ยินเลยว่าตัวเขาเป็นยังไง เพราะคำว่าไอ้เตี้ย ไอ้โย่ง มันอยู่ในความเชื่อของเรา เราดูถูกกันแต่ไม่รู้ตัว ซึ่งผมรู้สึกว่ามันควรจะมาทำความเข้าใจ แล้วยิ่งโตขึ้นมาทำงานมาแล้วยิ่งเจอว่าช่องว่างระหว่างกันมากขึ้น ยิ่งเราแตกต่างหลากหลายมาก เรายิ่งตีตรากันมาก ทั้งเรื่องความหลากหลายทางเพศหรือว่าคนหลากหลายอาชีพ อย่างเช่น ยามหรือว่าอาชีพโปรแกรมเมอร์ อาชีพฟรีแลนซ์ ก็มีภาพตีตรากัน เพราะเราไม่เคยอยู่ในพื้นที่เดียวกัน เราไม่คิดจะฟังกันด้วย ก็เลยนึกว่ามันน่าจะมีพื้นที่หนึ่งที่ให้คนที่ถูกตีตราได้ส่งเสียงมา แล้วให้คนที่ไม่เคยคิดจะฟังให้มีโอกาสได้เข้าได้ทำความรู้จักกันก็เลยเป็นที่มาของ “โครงการอ่านมนุษย์

“ยิ่งเราแตกต่างหลากหลายมาก เรายิ่งตีตรากันมาก… มันน่าจะมีพื้นที่หนึ่งที่ให้คนที่ถูกตีตราได้ส่งเสียงมา แล้วให้คนที่ไม่เคยคิดจะฟังให้มีโอกาสได้เข้าได้ทำความรู้จักกัน”

— โชติศักย์ กิจพรยงพันธ์, หัวหน้าโครงการอ่านมนุษย์

ทำไมถึงสมัครเป็นคนอ่าน

คุณเปิ้ล : เหตุผลจริงๆ เราเป็นครูแพทย์อยู่ที่โรงพยาบาล สอนนิสิตแพทย์แล้วรู้สึกว่าการที่เราจะต้องไปดูแลคนไข้หนึ่งคน เราจะต้องมีทักษะในการเข้าใจผู้อื่น เลยอยากมาเรียนรู้ตรงนี้เขาว่าเราจะสามารถเอาไปสื่อสารต่ออย่างไร  และอยากได้กับตัวเองด้วย อยากได้แรงบันดาลใจเพราะตอนนี้รู้สึกว่าระบบงานมันทำให้เราเบิร์นเอาท์ 

คุณแอน : ที่สมัครเข้ามาเพราะอยากเข้าใจ ไม่ว่าหนังสือเล่มนั้นจะเป็นหนังสืออะไรก็ตาม อยากจะเข้าใจเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ไม่ได้คิดไว้ก่อนว่าจะอ่านหนังสือเล่มไหน พอดีอ่านหนังสือที่เล่มของน้องพีร์ ไปเจอคำที่เขาเขียนอยู่ข้างในแล้วมันน่าสนใจ ก็เลยอยากจะสมัครมาอ่าน

ทำไมถึงสมัครเข้ามาเป็นหนังสือ

คุณชมพิ้งค์ : ปัจจุบันรู้สึกว่าการตีตรามันมีทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นตัวเราหรือว่าคนอื่น การ represent หรือว่าการแสดงข้อมูลให้คนได้เห็นมากขึ้นมันก็จะเป็นประโยชน์อย่างหนึ่ง เพราะจริงๆ แล้วมันไม่ใช่แค่ตัวเราด้วยซ้ำที่ถูกตีตรา ไม่ใช่แค่คนข้ามเพศที่ถูกตีตรา ผู้ชายผู้หญิงเองก็ถูกตีตรา อย่างเราก็มีภาพที่คนจำลักษณะหนึ่ง เราอยากจะสื่อให้คนเห็นว่าจริงๆ แล้ว มันมีอะไรมากกว่านั้น มากกว่ามุมมองที่เขามองที่เขาเห็น 

คุณพีร์ : เป็นประเด็นเดียวกับคุณชมพิ้งค์ คือเรื่องของคนที่มีหลากหลายทางเพศ ในฐานะที่เป็นผู้ชายข้ามเพศ มันก็จะมีประชากรน้อยกว่าผู้หญิงทางเพศมาก เพราะว่าอาจจะพึ่งมีเทคโนโลยีที่ช่วยให้แปลงเพศได้มันสมบูรณ์ มันก็มาช่วงประมาณ 5-10 ปีหลังจากนี้ ก็อยากจะมาให้ความรู้ของเรา ประสบการณ์ของเราให้คนอ่านได้รู้ ได้เข้าใจเรามากขึ้น เพราะว่าบางทีมันไม่ได้มีพื้นที่เราได้พูดได้คุยอะไรขนาดนั้นในสังคม ในสื่อ ในหนัง หรือในละครยังไม่ค่อยมีเรื่องราวของผู้ชายข้ามเพศมากพอ ก็เลยอยากจะให้เป็นพื้นที่ที่มันได้กระจายเสียงออกไปมากขึ้นครับ

คนเป็นหนังสือพอได้พูดคุยแล้วเป็นไปตามความตั้งใจหรือไม่

คุณพีร์ : จริงๆได้มากกว่าที่คิดไว้ เพราะว่าก็มีทีมงานเตรียมบรีฟคนฟังมาอย่างดี แล้วก็เตรียมตัวหนังสือมาดีเหมือนกันเพราะว่าเราจะได้ฟังกันอย่างตั้งใจจริงๆ แล้วการฟังสำคัญมากในการทำความเข้าใจความหลากหลายของคนในสังคมไทย  บางทีเราอยู่ในบ้านเราอาจจะไม่มีพ่อแม่หรือว่าคนที่รับฟังเราได้ แต่ถ้าเราเปิดใจกว้างจริงๆ เราจะเห็นความงามของมนุษย์และความหลากหลายที่มันซ่อนอยู่ ในความเป็นปัจเจกเราก็ไม่เหมือนกันเลยสักคน

คุณชมพิ้งค์ : สิ่งที่ได้จากวันนี้ ค่อนข้างแฮปปี้ เพราะว่าถ้าบรรยากาศมันไม่ดีเราจะรู้สึกค่อนข้างเกร็งที่ได้คุยกับคนไม่รู้จัก แต่ถ้าเปรียบเทียบในสถานการณ์วันนี้มันเหมือนกับตอนที่เราต้องขึ้นเครื่องบินไปแล้วเราแชร์ประสบการณ์กับคนข้างๆ โดยที่เราก็ไม่รู้ว่าเขาคือใคร เขาก็ไม่รู้ว่าเราคือใคร เราสามารถมีประสบการณ์กับเขาได้อย่างเต็มที่ ตอนแรกเราตั้งใจว่าเราจะสื่อสารความเป็นเรา สื่อสารความเป็นปัจเจกบุคคลของตัวเรา ตอนนี้เรารู้สึกว่าเราได้อะไรมากกว่านั้น เราได้สิ่งที่สะท้อนกลับมาจากผู้ฟังด้วยเช่นกัน เรามักจะมองในมุมมองของตัวเองที่ถูกเลือกปฏิบัติ แต่เราได้เห็นมุมมองว่าคนปฏิบัติเองเขาก็ไม่อยากปฏิบัติกับเราอย่างนั้นเช่นกัน มันมีบางบริบทมันมีบางมุมมองที่เราไม่เคยมองไปถึง แต่ว่าวันนี้เรานี้แตะ เราได้สัมผัสไปถึงเขาเองเขาก็ลำบากใจเช่นกัน แล้วเขาก็อยู่ในบริบทที่โดนสังคมกดทับเช่นกัน

“การฟังสำคัญมากในการทำความเข้าใจความหลากหลายของคนในสังคมไทย”

– พีร์ จิรภัทร, หนังสือมนุษย์ชายข้ามเพศ

ได้อ่านหนังสือเล่มไหน เดิมทีมีมุมมอง ทัศนคติต่อหนังสืออย่างไร

คุณแอน : มาแบบในหัวไม่มีอะไรเลย โดยส่วนตัวเป็นคนชอบอ่านหนังสือมาก วันนี้ก็เป็นโอกาสดีที่ได้อ่านหนังสือที่มีชีวิต เวลาที่อ่านหนังสือก็แทบจะไม่เลือกเลยว่าเป็นประเภทไหน เป็นคนที่ค่อนข้าง open อยู่แล้ว วันนี้มีโอกาสถือว่าเป็นการเปิดมุมมองตัวเอง จริงๆ ไม่ได้ไม่ได้มีอคติ ไม่ได้มีเรื่องแบบชอบหรือไม่ชอบ 

เราได้เข้าใจอะไรเพิ่มขึ้นจากการอ่าน

คุณแอน : มันก็เหมือนอ่านหนังสือเล่มนึง ก็มองว่าจริงๆ น้องคงไม่ได้ represent คนกลุ่มนี้ เพราะว่าชีวิตแต่ละคนก็แตกต่างกัน แต่คิดว่าเป็นการทำให้เราเข้าใจน้องเขามากกว่า คนที่เขาต้องฝ่าฟันอุปสรรคในเรื่องนี้ ต้องอย่างนั้นต้องเก่งเป็นแบบนี้ ซึ่งบางทีมันก็เป็นความกดดัน น้องเขาเก่งมากที่ผ่านตรงจุดนี้มาได้ เป็นหนังสือที่สนุกมาก

คุณเปิ้ล : ตอนแรกไม่ได้ตั้งใจเลือกคนตาบอดเลย จริงๆ อยากได้คนข้ามเพศเพราะว่าเป็นเพื่อนอยู่ในเฟซบุ๊กของน้องพีร์ แต่ว่าเราไม่เคยเจอตัวจริง คงเป็นธรรมะจัดสรรได้เจอพี่หน่อง เราก็มองว่าคนตาบอดทำไมไม่มีอุปกรณ์ช่วยเหลือตัวเองในการเดินหรือทำอะไรเลย ดูนั่งแบบเหมือนคนปกติ ถ้าไม่ได้สังเกตพี่หน่องก็ดูเหมือนเป็นคนปกติ แล้วก็เห็นมุมมองของคนตาบอดจริงๆ ตอนแรกก็คือคิดว่าน่าจะเป็นภาระ น่าจะเป็นอะไรที่ต้องมีคนช่วยเหลือหรือต้องการความช่วยเหลือจากคนอื่น แต่ว่าพอได้คุยกับพี่หน่องแล้ว เวลาครึ่งชั่วโมงก็ไม่พอ เราเป็นคู่สุดท้ายที่คุยเสร็จ มีอะไรที่น่าเรียนรู้และได้แรงบันดาลใจจากชีวิตของพี่หน่องพอสมควร เห็นความทุกข์หรือสิ่งที่พี่หน่องสามารถก้าวข้ามผ่านปัญหาในแต่ละช่วงวัย เนื่องจากตัวเองเป็นหมอและพี่หน่องก็เล่าว่าเป็นที่เป็นจอประสาทตาเสื่อม มันเป็นโรคที่รักษาไม่หาย มันเป็นคำพูดที่หมอต้องพูดแบบตรงๆ แต่ว่าตอนที่พี่หน่องเล่ามันสะกิดใจ ว่าเป็นโรคที่รักษาไม่หายกับเด็กอายุประมาณชั้นประถม แล้วเขาจะรู้สึกยังไง รู้สึกเลยว่าตอนนั้นมันเป็นปัญหาที่ใหญ่มากสำหรับเด็กคนนึงหรือครอบครัวหนึ่งที่บอกว่าคนไข้เป็นโรครักษาไม่หาย ซึ่งจริงๆ ถ้ามีการสื่อสารที่ดีกว่านี้ เราอาจจะใช้คำพูดที่เปลี่ยนไป แล้วก็ทำให้เขารู้สึกมีกำลังใจในการมีชีวิตอยู่ต่อได้มากขึ้น 

มันทำให้เรารู้จัก และเข้าใจตัวเองเพิ่มมากขึ้นอย่างไร

คุณเปิ้ล : สำหรับตัวเองคือมีกำลังใจในการทำงานเยอะขึ้น แม้ในช่วงสั้นๆ ที่พี่หน่องเล่าว่ามันมีปัญหาในแต่ละจุด แต่ละช่วงวัย ส่วนใหญ่สอบถามเรื่องตอนเด็กๆ ว่าจะต้องเข้าโรงเรียนยังไง ไปเรียนยังไงกับคนตาบอด ตอนแรกต้องเรียนโรงเรียนปกติเกิดปัญหาอะไร ซึ่งพี่หน่องก็จะเป็นคนที่ใฝ่เรียน แล้วก็อยากอยากทำตัวให้ดี รู้สึกว่าขั้นตอนในแต่ละช่วงของชีวิตเขา มันเหมือนผ่านอุปสรรคอะไรที่มันค่อนข้างยาก ซึ่งตอนนั้นคิดว่ายังไม่มีระบบสังคมที่จะยอมรับคนพิการแบบนี้ โรงเรียนปกติก็ไม่เข้าใจคนพิการหรือแม้แต่โรงเรียนคนพิการเองก็ไม่ใช่เข้าได้ง่ายๆ แล้วก็เลยรู้สึกว่าที่ผ่านมาตรงนี้ได้ปัญหาของตัวเองเล็กนิดเดียว 

คุณแอน : เข้าใจตัวเองว่าวันนี้เราพยายามที่จะไม่ตัดสินคนอื่น แต่ว่าพอเราอ่านหน้าปก เปิดมาปุ๊บเราก็มีความคิดว่าหนังสือเล่มนี้สงสัยจะต้องกดดัน จะต้องเศร้า คือเราก็แอบจินตนาการไปแล้ว เดาว่าเรื่องมันจะเป็นยังไง พอเราตั้งใจแบบฟังจริงๆ ตั้งใจมาโฟกัสอยู่กับเขา ใช้เวลากับเขาที่อยู่ต่อหน้าเราจริงๆ  มันทำให้เรารู้สึกว่าจริงๆแล้ว เรื่องมันไม่ใช่แบบที่เราคิด ไม่ใช่แบบที่เราเคยเห็นมาเลย บางทีสิ่งที่เคยเห็นก็ไม่ใช่สิ่งที่เขาเป็น เราไม่ควรไปคิดแทน น้องเขาหรือว่าหนังสือเล่มนี้จัดการชีวิตตัวเองได้ดีมาก คนที่มีความแตกต่างเขายิ่งต้องพยายามมากกว่าคนอื่น ต้องพยายามพิสูจน์ตัวเองทำให้คนอื่นเห็น พี่ก็คิดว่าสิ่งที่ได้ยินในวันนี้มันคือทำให้เราใจกว้างกว่าเดิม จากที่เราก็คิดว่าตัวเองก็เป็นคนใจกว้างอยู่แล้ว เราต้องยอมรับกันและช่วยเหลือกันแล้วสังคมมันจะน่าอยู่

ได้ฟังทั้งหนังสือและคนอ่านเล่าแล้วรู้สึกอย่างไรบ้าง

อ.โชติศักย์ : ดีใจที่ได้คุยกัน ประเด็นเวลาเราเจอคนลักษณะใหม่ๆในสังคม แล้ว input แรกที่เราได้รับน่าสนใจมากเลยเราได้รับ feed จากฟังข่าว จากทางละครหลังข่าวบ้าง โดยที่เรายังไม่รู้จักกันมาก่อนเลย เราก็ได้รับข้อมูลมาเติมในหัว เช่นคนข้ามเพศครั้งนี้ก็มีลักษณะใหม่ๆโผล่ขึ้นมามันไวมากเลย สักพักแล้วต้องหาอะไรมาเติม ไม่งั้นเราจะเข้าใจกันลำบาก ก็เลยรู้สึกดีใจแทนน้องพีร์และคุณแอนเลยว่าได้มาเจอกันจริงๆ

การที่คนเราจะเท่าทัน Echo Chamber รู้เท่าทันอคติการตัดสินของตัวเราเอง จำเป็นต้องมางานอ่านมนุษย์แบบนี้ไหม

อ.โชติศักย์ : ไม่จำเป็นเลย แต่ว่างานอ่านมนุษย์มันทำให้เราได้เห็นวิธีที่ทำให้เราเท่าทันอารมณ์ บางทีเวลาที่เราเห็นคนบางแบบ มันจะมีอารมณ์โดยไม่รู้ตัว อย่างเช่น เมื่อก่อนผมมีเพื่อนเป็นเกย์ แล้วก็จะมีพฤติกรรมชายตาใส่เราเวลาอยู่ในห้องเรียน การที่เราทันว่ามีความรู้สึกอะไรบางอย่าง มันจะช่วยให้เราได้กลับมาสำรวจความคิดได้ว่าเราคิดอะไรกับคนอื่น คิดอะไรเขาอยู่ ซึ่งคนบางคนทำแล้วเราไม่มีปฏิกิริยาอะไร เพราะเราไม่ได้รู้สึกอะไรเลย ไม่ได้มีความคิดเข้ามาเติม ผมคิดว่า key หนึ่งคือเรื่องของความรู้สึก อีกเรื่องคือคำเปิดใจ เหมือนเวลาเราจะได้ลองอาหารใหม่ๆ อาหารของชาติอื่น จำครั้งแรกได้ไหมว่าเราเลือกปฏิเสธเลือกกินมันเป็นเพราะอะไร ผมคิดว่าการเข้าไปทำความเข้าใจลักษณะบางอย่างที่เราตีตราหรือเราได้ยินมาก่อน แต่เรายังไม่เคยเข้าไปสัมผัสจริงๆ มันอาจจะเหมือนการชิมอาหารก็ได้