“เฌอเอม – ชญาธนุส” เมื่อคนสวยไม่ใช่นางฟ้า แต่เป็นคนธรรมดาที่มีหมวกหลายใบ

  • เฌอเอม – ชญาธนุส ศรทัตต์ มิสแกรนด์ลำพูน 2023 แจ้งเกิดจากเวทีการประกวดนางงามเมื่อ 2 ปีก่อน และผันตัวเป็นนักกิจกรรมทางการเมือง
  • เฌอเอมมองว่า การเป็นคนสวยทำให้เธอมีอาชีพและตำแหน่งนางงาม การเป็นบุคคลสาธารณะคืองานอย่างหนึ่ง และนอกแสงสปอตไลต์ เธอก็คือคนธรรมดา
  • ตัวตนอีกมุมหนึ่งของเฌอเอม คือโอตาคุผู้คลั่งไคล้การ์ตูนและเกมออนไลน์ ซึ่งการ์ตูนก็เป็นกำลังใจสำคัญในการก้าวข้ามปัญหาต่างๆ ในชีวิตของเธอ
  • เป้าหมายหลักของเฌอเอมในการประกวดมิสแกรนด์ 2023 คือการทำภารกิจในชีวิตให้สำเร็จ และการใช้โอกาสนี้ต่อยอดการทำงานภาคประชาสังคมในอนาคต

เมื่อราว 2 ปีก่อน วงการนางงามถือว่ามีสีสันกว่าที่ผ่านมา จากการแนะนำตัวในรอบออดิชั่นของผู้เข้าประกวดคนหนึ่ง เธอบอกว่า เธอพูดไม่ชัดเพราะมีรูปปากผิดปกติมาตั้งแต่เกิด แต่เธอเชื่อว่า “แม้เราจะเกิดมาด้วยข้อจำกัด แต่มันไม่ใช่ข้อจำกัดในความสามารถของเรา”

นับจากวันที่แจ้งเกิดบนเวทีนางงามครั้งนั้น “เฌอเอม ชญาธนุส ศรทัตต์” กลายเป็นที่รู้จักในสังคมไทย แม้จะพลาด “มง” ในเวทีประกวดครั้งแรก แต่เธอก็ยังคงมีพื้นที่ในสื่ออยู่เสมอ ด้วยการผันตัวเป็นนักกิจกรรมทางการเมือง เคลื่อนไหวเพื่อสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์ในนามภาคี save บางกลอย จนถูกขนานนามว่าเป็น “นางงามขบถ” ที่แหวกขนบนางงามและออกมาส่งเสียงเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับเพื่อนร่วมสังคม

จากการเดินทางในเส้นทางต่างๆ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เฌอเอมถือเป็น “คนสวย” คนหนึ่งที่อาจเรียกได้ว่า “งามอย่างมีคุณค่า” คือเป็นคนสวยที่ใช้สมองและสองมือทำประโยชน์เพื่อสังคม แต่สำหรับเธอ ความสวยเป็นเพียงใบเบิกทางให้เธอได้มีอาชีพ มีตำแหน่ง ท้ายที่สุดแล้ว เธอก็เป็นเพียงคนธรรมดาที่มีหลายบทบาทที่ต้องแสดง

“เฌอเอม ชญาธนุส ศรทัตต์”

“ความจริงแล้ว ชื่อของเอมมันคือ just เอม” เฌอเอมเริ่มต้น เมื่อเราถามถึงนิยามความเป็นเฌอเอม ก่อนจะเล่าต่อว่า ชื่อเฌอเอมนั้นมีที่มาตั้งแต่สมัยที่เธอเริ่มเป็นนางแบบ และทำงานท่ามกลางนางแบบชื่อคล้ายกันหลายคน ดังนั้น เจ้าของเอเจนซี่แรกของเธอจึงเปิดหนังสือชื่อมงคล แล้วจิ้มได้ชื่อเฌอเอมมา ทว่าปัญหาก็ยังไม่จบ เพราะในวันที่เธอยังไม่มีตัวตน ไม่ว่าเธอจะชื่อเอม หรือเฌอเอม คนอื่นๆ ก็จะเรียกเธอว่าชะเอมอยู่ดี หรือในบางทีก็จะโดนบ่นให้ได้ยินว่าชื่อยากเกินไป

“เรามีความรู้สึกว่า การออกเสียงชื่อหรือความใส่ใจที่คนมีกับชื่อ มันเปรียบเสมือนความใส่ใจที่คนมีกับตัวตนของเรา ก็คือเขาไม่ได้ใส่ใจขนาดนั้น เขาไม่ได้อยากจะให้เกียรติ ไม่ได้อยากจะรู้จักเรา เขาไม่ได้อยากจะรู้ว่าเราจะรู้สึกอย่างไรเมื่อโดนเรียกชื่อผิด เขาไม่ได้อยากรู้ด้วยซ้ำว่าจริงๆ เราชื่ออะไร เขาเรียกตามที่เขาเข้าใจเรา” 

“เอมรู้สึกว่า วันหนึ่งนะ กูจะทำให้ทุกคนเรียกชื่อกูถูกให้ได้เลย แล้วมันก็มีวันนั้น นั่นคือวันที่เราเป็นเฌอเอม ชญาธนุส ศรทัตต์”

ด้วยเหตุนี้ สำหรับเฌอเอม ชื่อนี้กลายเป็นตัวตนที่แข็งแกร่งด้านหนึ่งของเธอ เป็นเหมือนยศอย่างหนึ่งที่เมื่อเรียกขาน เธอก็พร้อมจะทำงานทันที โดยที่คนทั่วไปไม่จำเป็นต้องรู้จักตัวตนทั้งหมดของเธอ

“ถามว่าเฌอเอมคือใคร เฌอเอมก็คือเฌอเอม เฌอเอมคือผู้หญิงคนหนึ่งที่แบกความคาดหวัง แบกคำด่าทอ เฌอเอมคือสัญลักษณ์ของบางทีก็เป็นความเฟียร์ซ บางทีก็เป็นความขบถ บางทีก็เป็นความล้มเหลว บางทีก็เป็นความสำเร็จ นี่คือเฌอเอม” เธอให้คำจำกัดความในที่สุด

คนสวยต้องเป็นคนดี?

เฌอเอมเล่าว่า คนทั่วไปมักจะคิดว่าเธอเป็นคนฉลาด อ่านหนังสือเยอะ เป็นคนจริงจังจนหลายคนไม่กล้าคุยด้วย เพราะดูเข้าถึงยาก บ้างก็ว่าเธอเป็นคนดุ ตรงไปตรงมา เป็นตัวของตัวเอง หรือเป็นบุคคลสาธารณะที่ดูไม่เหมือนบุคคลสาธารณะคนอื่นๆ แม้ว่าจะพอมีชื่อเสียงบ้างก็ตาม

และสำหรับการเป็นคนสวยที่เคลื่อนไหวในประเด็นทางการเมืองด้วย ความสวยช่วยให้เสียงของเธอดังขึ้นหรือเปล่า เฌอเอมตอบว่า ถ้าเธอพูดเรื่องการเมืองตั้งแต่แรกแล้วมีคนฟังเยอะ ก็น่าจะเป็นเพราะความสวย แต่ในความเป็นจริง เธอประกวดนางงามก่อน แล้วค่อยแสดงความเห็นทางการเมืองทีหลัง เพราะฉะนั้น ความสวยไม่น่าจะเกี่ยวกับประเด็นนี้

“ต้องบอกว่าความสวยมันไม่ช่วยด้วยซ้ำ มันจะมีคำชมอยู่ประเภทหนึ่ง ที่เรียกว่า เป็น ‘นางฟ้าประชาธิปไตย’ เป็น ‘นางงามประชาธิปไตย’ คือมันทำให้เรารู้สึกว่า คำนี้มันไม่ควรจะเป็นคำชมน่ะค่ะ มันเป็นเพียงแค่เรื่องง่ายๆ เรื่องพื้นฐานที่ใครๆ ก็พูดได้ คือมันควรจะเป็นไอเดียที่ง่ายเหมือนหายใจ แต่กลายเป็นว่าเราพูดเรื่องประชาธิปไตย เราก็เลยดูเป็นคนดี และเป็นคนสวย” 

“แต่ตัดมาอีกฝั่งหนึ่งก็จะมีแบบ ‘สวยทั้งทีแต่ข้างในดูไม่ได้’ ‘หน้าตาสวยจิตใจหยาบช้า’ ก็มี ก็เลยสงสัยว่า แล้วหน้ากูมันเกี่ยวอะไรกับใจกูวะ ทำไมหน้าตาแบบหนึ่งแล้วเราต้องอนุรักษ์นิยมจัด หรือว่าเป็นหญิงไทยใจงาม หรือถ้าเราหน้าตาอีกแบบ ก็จะสามารถไปปาสี ตีลังกาล้อเกวียนอยู่หน้าทำเนียบได้ มันก็แปลกๆ” เฌอเอมกล่าว

บุคคลสาธารณะ = คนธรรมดา

ในขณะที่หลายคนมองว่า คนดังหรือบุคคลสาธารณะมักจะมีวิถีชีวิตที่แตกต่างจากคนทั่วไป แต่สำหรับเฌอเอม การเป็นนางงาม นางแบบ และการใช้ชีวิตประจำวันของเธอนั้นไม่ต่างกัน สิ่งที่แตกต่างคือบริบท ที่จะทำให้เธอต้องสวม “หมวก” รูปทรงต่างๆ ตามแต่บทบาทหน้าที่จะพาไป

“เวลาเราขึ้นไปพูดอะไรสักอย่าง เราไปปาฐกถาหรือว่าเราไปพูดสุนทรพจน์ สิ่งที่อยู่ตรงนั้นเราคือลำโพงหนึ่งตัว ลำโพงของแนวคิดหรือว่าโปรเจ็กต์ที่เราทำ เพราะฉะนั้น ภาพลักษณ์ที่เกิดขึ้น จะว่าเป็นเฌอเอม 100% มันก็คงไม่ใช่ มันคือภาพลักษณ์ที่เรามีร่วมกับสิ่งที่เราแสดงออก”

“เหมือนคุณเป็นนักกีฬา นักกีฬาแข่งแค่ในสนาม นางงามก็แข่งแค่บนเวที มันคืออย่างนั้น เพราะฉะนั้น มันไม่มีหรอกว่า ตัวจริงกับในกล้องเหมือนกันไหม มันก็ขึ้นอยู่กับบริบทนั้นมันคืออะไร ถ้าไม่ทำงานก็คือคนธรรมดา ทุกคนเป็นคนธรรมดา เอมก็เป็นคนธรรมดา” เฌอเอมอธิบาย 

เฌอเอมมองว่า บุคคลสาธารณะคือคนที่ทำงานกับสาธารณชน เพราะฉะนั้น บุคคลนั้นๆ จึงต้องวางตัวอย่างมืออาชีพในการทำงาน แต่นอกเหนือจากการอยู่ในสปอตไลต์ พวกเขาก็ต้องมีหมวกใบอื่นหรือตัวตนแบบอื่นที่เขาเป็นด้วย

“คนเรามันไม่ใช่อะไรแบนๆ เช่น หน้า – หลัง เป็นกระดาษหนึ่งแผ่น มันคือความกลมว่าคุณจะหันด้านไหนออกไปที่แสงไฟดวงไหน แล้วแสงสีของไฟดวงนั้น พอมันมากระทบ มันจะเกิดเอฟเฟกต์อย่างไร บุคคลสาธารณะเดินออกไปในผู้คนแล้วมันเป็นภาพอย่างนั้น ก็คือมันเป็นเหมือนลูกบอลดิสโกอันหนึ่งที่มันหมุนท่ามกลางไฟที่มีสีแตกต่างกัน”

“การ์ตูน” โลกอีกใบของเฌอเอม

เบื้องหลังภาพลักษณ์นางงามและนางแบบที่เต็มไปด้วยความมั่นใจ เฌอเอมคือ “เอม” หญิงสาวผู้คลั่งไคล้การ์ตูนและเกมออนไลน์ จนถึงระดับที่เป็น “โอตาคุ” ด้วยความที่เติบโตมากับหนังสือนวนิยายและการ์ตูนเป็นส่วนใหญ่ จึงทำให้พฤติกรรมต่างๆ ของเฌอเอมเหมือนตัวละครในหนังสือ และนั่นก็ทำให้เธอในวัยเด็กสื่อสารกับโลกความเป็นจริงได้ยาก และกลายเป็นตัวตลกในหมู่เพื่อนๆ

ทว่าเมื่อเข้าสู่วัยรุ่น จากโอตาคุที่สนุกสนานกับอีเวนต์การ์ตูน คอสเพลย์ และคอนเสิร์ตเจร็อก เฌอเอมหันมาเข้าสังคมกับเพื่อนๆ มากขึ้น และละทิ้งการ์ตูนไปโดยปริยาย เพราะรู้สึกว่าสิ่งเหล่านี้เป็นปมด้อยในชีวิต จนกระทั่งหลังจากทำอาชีพนางแบบได้ราว 3 – 4 ปี เธอเริ่มรู้สึกโดดเดี่ยว แม้ว่างานนางแบบจะให้ทั้งความมั่นคงทางอาชีพและความมั่นใจกับเธอก็ตาม

“เรากลับรู้สึกว่าชีวิตมันขาดอะไรบางอย่างไป อะไรบางอย่างที่ทำให้เรามีแพสชั่นแบบไม่มีเหตุผล มันไม่มีสิ่งที่เราทุ่มสุดตัวโดยไม่คิดถึงอะไรเลย ทุ่มไม่คิดหน้าคิดหลัง เราขาดตรงนั้นแล้วเรารู้สึกว่าเราแห้งเหือด อยู่ๆ เราก็กระหายการมีชีวิตน่ะ กระหายการมีความสุขโดยไม่ต้องคิดอะไร เราแค่อยากมีความสุขแบบแค่มีความสุขน่ะ” 

ด้วยความบังเอิญ เธอกลับมาอ่านการ์ตูนและเล่นเกมอีกครั้ง แล้วเธอก็พบว่าสิ่งที่ขาดหายไปนั้นก็อยู่ในมือของเธอนี่เอง เฌอเอมค้นพบว่าตัวเองมีโลกอีกใบที่เธอจะเป็นอะไรหรือคิดอะไรก็ได้ และโลกการ์ตูนที่แยกขาดจากกฎเกณฑ์ของโลกแห่งความเป็นจริง ยังเอื้อให้เธอได้สำรวจสิ่งต่างๆ อย่างที่โลกจริงไม่อนุญาตให้ทำ และหลังจากนั้น ทุกครั้งที่เธอเหนื่อย การ์ตูนจะเยียวยาเธอได้เสมอ

“ถ้าเฌอเอมคือสัญลักษณ์บางอย่างทางสังคม การ์ตูนก็คือเอมเฉยๆ เอมคือคนชอบการ์ตูน เอมคือโอตาคุ เอมคือคนที่ถวายจิตวิญญาณให้การ์ตูน” เฌอเอมกล่าว

แต่ด้วยความเป็นคนสวย เฌอเอมที่เป็นโอตาคุในสายตาคนนอกวงการการ์ตูน จึงเป็นโอตาคุที่ดูดี ทั้งที่ปกติเมื่อพูดถึงโอตาคุ สังคมจะมองกลุ่มคนเหล่านี้ในแง่ลบ

“คนที่ไม่ได้อยู่ในวงการการ์ตูน เขาจะรู้สึกว่า เอมเป็นโอตาคุเหรอ แต่เอมคงไม่คิโม่ยขนาดนั้นมั้ง ไม่ได้ทำอะไรน่าขยะแขยงแบบไปแอบตามไอดอลหรืออะไรงี้มั้ง อันนี้ก็อาจจะเป็น Halo Effect อย่างหนึ่งที่ทำให้เขารู้สึกว่า โอตาคุก็ไม่ได้แย่เท่าที่เราคิดนี่ คือพอเป็นนางงาม เฌอเอมเป็นคนที่แย่มากเลยนะ แต่พอเป็นโอตาคุปุ๊บ อุ๊ย… เฌอเอมก็ไม่ได้แย่ขนาดนั้น โอตาคุก็ดูดี ก็ตลกดี” เฌอเอมเล่า

เป้าหมายครั้งใหม่บนเวทีมิสแกรนด์

หลังจากโบกมืออำลาเวทีประกวดความงามเมื่อ 2 ปีก่อน เฌอเอมยอมรับว่าเธอยังรู้สึกเสียดาย และยังอยากจะทำสิ่งต่างๆ ในฐานะนางงาม ทว่าด้วยความรู้สึกว่าร่างกายและจิตใจยังไม่พร้อม เธอจึงเลือกที่จะก้าวข้ามเรื่องการเป็นนางงามไป

แล้วการ์ตูนสงครามอย่าง “86” ก็ยื่นมือมาดึงให้เธอลุกขึ้นสู้ชีวิตอีกครั้ง หลังจากที่เธอปล่อยให้ชีวิตสู้กลับมานาน

“เราสัมผัสถึงความมีชีวิตจากสิ่งที่หลายคนอาจจะมองว่าไม่มีชีวิต หนึ่งคือเราสัมผัสถึงชีวิตในโลกที่พวกเขาอยู่ แล้วเราเอาความรู้สึกนั้นสะท้อนกลับเข้ามาในชีวิตของเรา ทำให้จิตใจเรามันมีความรู้สึกบางอย่างขึ้นมาอีกครั้ง เรารู้สึกรันทดไปกับเรื่องราว เราท้อแท้ ตอนที่ตัวละครท้อแท้ เราสู้ตอนที่ตัวละครสู้ และสุดท้ายคือเรารู้สึกเจ็บปวดกับตอนจบของมัน แต่สุดท้ายแล้วความเจ็บปวดนี้มันทำให้เรารู้สึกว่า ชีวิตมันก็ต้องเป็นแบบนี้แหละ สุดท้ายแล้วมันก็เจ็บปวดนะ แต่มันก็สวยงาม” เฌอเอมเล่าถึงความประทับใจที่มีต่อการ์ตูนเรื่องนี้

การลุกขึ้นสู้อีกครั้งของเฌอเอมมาประจวบเหมาะกับการปรับเปลี่ยนกติกาของเวทีการประกวดมิสแกรนด์ไทยแลนด์ ที่ระบุว่า หากสาวงามได้ตำแหน่งมิสแกรนด์ประจำจังหวัดก่อนอายุ 29 ก็จะสามารถเข้าประกวดในเวทีมิสแกรนด์ไทยแลนด์ได้ ด้วยเหตุนี้ เฌอเอมจึงไม่ลังเลที่จะคว้าโอกาสครั้งนี้ไว้ โดยลงสมัครเป็นตัวแทนจังหวัดลำพูน และตั้งเป้าหมายเล็กๆ แค่ให้ตัวเองอยู่พ้นวันที่ 7 ธันวาคม 2565 ซึ่งเป็นวันตัดสินผู้ชนะ และในที่สุด เธอก็คว้ามงมิสแกรนด์ลำพูน 2023 มาได้สำเร็จ

“เนื้อแท้เอมคือคนห่วย จริงๆ นะ คือถ้าถามว่าเอมมองตัวเองอย่างไร เอมคือคนห่วย เอมไม่เคยรู้สึกเลยว่าชีวิตเอมมีอะไรสำเร็จ ล้มเหลวตลอด เราไม่อยากจะรู้สึกว่าเราเป็นคนห่วยตลอดไป มันอาจจะห่วยกว่าถ้าเราล้มเหลวครั้งนี้ แต่ถ้าเราไม่เปลี่ยน เราก็ไม่มีทางรู้ เอมก็เลยคิดว่า มากสุดก็ห่วยจนวันตาย ทำไม่ทำก็ห่วย งั้นก็ลองทำ เผื่อว่าเราจะเปลี่ยนตัวเองได้อีกครั้ง”

นอกจากเป้าหมายส่วนตัวที่จะลบคำว่าห่วยออกจากชีวิต อีกจุดประสงค์หนึ่งของเฌอเอมในการแข่งขันครั้งใหม่บนเวทีมิสแกรนด์ คือการต่อยอดการทำงานภาคประชาสังคมของเธอ

“มิสแกรนด์มันเป็นเวทีแห่งโอกาส มันมีแต่ทรัพยากรที่เราจะได้ เราก็เลยเลือกที่จะเข้าไปตรงนี้แล้วก็เก็บเกี่ยว เวลาที่คุณลงประกวด สิ่งที่คุณคิดมันไม่ได้มีแค่ตำแหน่ง เพราะว่าถ้าคิดแค่ตำแหน่งเอมมองว่าเป็นการให้โอกาสตัวเองที่คับแคบเกินไป คุณต้องมองว่ากำไรที่จะได้จากเวทีตรงนี้จะพัฒนาระยะยาวเป็นอะไรได้อีก แล้วคุณถึงจะรู้ว่านี่คือเวทีแห่งโอกาส ไม่อย่างนั้น ความสำเร็จกับความล้มเหลวของคุณมันจะตัดสินแค่วันประกาศผลวันเดียว”

“เป้าหมายของเอมจริงๆ นะ คือทำให้มันสุด ก็คือทำให้มีโมเมนต์ที่รู้สึกว่า สุดกว่านี้ไม่ได้แล้ว เพื่อที่เราจะไม่รู้สึกว่าตอนนั้นเราได้ทำเต็มที่หรือเปล่า” เฌอเอมสรุป