แนวทางการจัดกิจกรรมอ่านมนุษย์

แนวทางจัดกิจกรรมอ่านมนุษย์มี 6 ขั้นตอนสำคัญ เรามั่นใจว่าคุณจะสร้างสรรค์ขึ้นเองได้

1. เป้าหมาย : สู่ความเข้าอกเข้าใจกัน​

กิจกรรมอ่านมนุษย์ต้องการสร้างความเห็นอกเห็นใจผู้ที่สังคมตัดสินเหมารวม ด้วยการให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมมีประสบการณ์ตรง เกิดความเข้าใจในความแตกต่าง เท่าทันความเชื่อยึดติดและก้าวข้ามอคติในใจ ผ่านการสนทนาและรับฟังกันอย่างเพื่อนมนุษย์

2. ผู้จัด : ทีมงานหลักและภารกิจ

ทีมสถานที่

มองหาสถานที่จัดกิจกรรม ที่มีพื้นที่สำหรับหนังสือมนุษย์และคนอ่านพูดคุยกันและมีความเป็นส่วนตัวตามสมควร เสียงสนทนาแต่ละคู่ไม่รบกวนกัน มีพื้นที่สำหรับปฐมนิเทศ พื้นที่สำหรับถอดบทเรียน มีที่พักรอระหว่างกิจกรรม และจัดพื้นที่สำหรับวันจัดกิจกรรม

ทีมประชาสัมพันธ์

วางแผนผลิตสื่อและช่องทางประชาสัมพันธ์สำหรับกลุ่มเป้าหมาย เช่น จัดกิจกรรมในสถานศึกษาที่มีกลุ่มเป้าหมายเป็นนิสิตนักศึกษา หรือ จัดกิจกรรมในสถานที่ทำงานมีกลุ่มเป้าหมายเป็นพนักงาน ช่องทางการสื่อสารที่เหมาะสมอาจจะเป็นกลุ่มไลน์ของสถานศึกษาหรือสถานที่ทำงานนั้น เป็นต้น

ทีมกระบวนการ

ผู้จัดกระบวนการ (กระบวนกร) จะเป็นผู้เตรียมหนังสือมนุษย์และคนอ่านในช่วงปฐมนิเทศก่อนกิจกรรม โดยติดตั้งทักษะการฟังอย่างลึกซึ้ง การสนทนาในฐานะมนุษย์ การสะท้อนตนเอง (รายละเอียดเพิ่มเติมดูในส่วนของการเตรียมตัว)

หลังกิจกรรมผู้จัดกระบวนการจะเป็นผู้ถอดบทเรียนจากหนังสือมนุษย์และคนอ่าน

ทีมประสานงาน

ทีมประสานงานมีส่วนสำคัญในการจัดกิจกรรมอ่านมนุษย์ ประสานงานกับทีมต่างๆ ประสานงานกับหนังสือมนุษย์และคนอ่าน ติดตามงานตามแผนงาน ฯลฯ

3. ผู้เข้าร่วม : หนังสือมนุษย์และคนอ่าน

การรับสมัครหนังสือมนุษย์และคนอ่านทำได้หลายช่องทางตามกลุ่มเป้าหมายท่ีสนใจ เช่น สถานศึกษาหรือสถานที่ทำงาน อาจรับสมัครผ่านไลน์กลุ่ม คัดเลือกผู้ที่สนใจจากชุมชนในพื้นที่หรือประกาศผ่านสื่อออนไลน์หากกลุ่มเป้าหมายเปิดสำหรับสังคมทั่วไป

4. กระบวนการ : เตรียมทักษะและแนวทางของงาน

การปฐมนิเทศหนังสือมนุษย์และคนอ่านให้ได้เรียนรู้การฟังอย่างไม่ตัดสิน ฟังอย่างตั้งใจ เทคนิคการฟัง การตั้งคำถามเชิงสร้างสรรค์ (Appreciative Inquiry) เพื่อสร้างความเข้าใจจากมุมมองที่แตกต่างกัน การสะท้อนตนเอง (Self-reflection) เป็นการกลับมาสังเกตอารมณ์ ความรู้สึก และเท่าทันความคิดของตัวเอง สิ่งที่ควรทำและไม่ควรทำ การรับมือกับเหตุการณ์ที่คาดไม่ถึงระหว่างการสนทนา

5. ปฏิบัติการ : จัดกิจกรรมอ่านมนุษย์

การเตรียมงานก่อนวันกิจกรรม มีการตรวจสอบสถานที่ก่อนวันกิจกรรม เตรียมอาหารสำหรับผู้เข้าร่วม เตรียมพื้นที่สำหรับการปฐมนิเทศ/ถอดบทเรียน พื้นที่สำหรับการพักรอ พื้นที่สำหรับการสนทนาที่เป็นส่วนตัวพอสมควรและเสียงไม่ดังจนสนทนากันไม่ได้ยิน ซักซ้อมการมอบหมายหน้าที่ทีมงานและลำดับกิจกรรม

วันจัดกิจกรรมเป็นวันที่ทีมงานและผู้เข้าร่วมกิจกรรมตื่นเต้นมาก หลังจากหนังสือมนุษย์ลงทะเบียน กระบวนกรจะปฐมนิเทศเพื่อเตรียมตัวให้กับหนังสือมนุษย์ ระหว่างนั้นคนอ่านจะทยอยมาลงทะเบียน จากนั้นจะเป็นการปฐมนิเทศเพื่อเตรียมตัวคนอ่าน เมื่อจับคู่หนังสือมนุษย์กับคนอ่านแล้วก็เริ่มสนทนากัน 30 นาที หลังจากจบการสนทนากระบวนกรจะถอดบทเรียนจากหนังสือมนุษย์และคนอ่าน

6. เก็บเกี่ยวบทเรียน : ประเมินผลและเรียนรู้ร่วมกัน

การถอดบทเรียนหนังสือมนุษย์และคนอ่านทำให้มีโอกาสไคร่ครวญและสะท้อนตนเองอีกครั้งหลังจากจบกิจกรรม การถอดบทเรียนเป็นการประเมินผลที่ทำให้ทีมงานได้ยินประสบการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นตรงกับเป้าหมายที่วางไว้หรือไม่ มีส่วนไหนที่ควรพัฒนากิจกรรมให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

 

ตัวอย่างคำถามสำหรับการถอดบทเรียนคนอ่าน

  • เรื่องราวที่เราคิดเกี่ยวกับหนังสือที่อ่านมีความเหมือน/แตกต่างจากที่ได้ยินอย่างไร
  • เกิดความเข้าใจเพิ่มเกี่ยวกับคนลักษณะเดียวกับหนังสือมนุษย์เล่มที่อ่านอย่างไรบ้าง
  • เห็นความเชื่อ ความเข้าใจของตนเองอย่างไรบ้าง

ทีมงานก็มีการถอดบทเรียนหลังกิจกรรมด้วยเช่นกัน

กระบวนการเตรียมหนังสือมนุษย์และคนอ่าน

ทักษะการฟัง

การตั้งคำถามเชิงสร้างสรรค์ (Appreciative Inquiry)

การสะท้อนตนเอง

กิจกรรมที่เกี่ยวข้อง ดูได้ที่ https://jitarsabank.com/ คำค้น ฟังสร้างสุข