“อ่านมนุษย์” หนังสือมีชีวิต ที่ช่วยสร้างความเข้าใจให้สังคมด้วย “การฟัง”

  • “อ่านมนุษย์” โดยธนาคารจิตอาสา และความสุขประเทศไทย เปิดโอกาสให้ทุกคนได้มารับฟังกันอย่างเปิดใจและไร้อคติ เปรียบเรื่องราวชีวิตของปัจเจก ผู้เป็นสมาชิกตัวเล็ก ๆ ในสังคม ให้เป็นหนังสือเล่มหนึ่ง และให้คนทั่วไปได้ลองเปิดหู เปิดใจ และเปิดอ่าน (รับฟัง) เรื่องราวเหล่านั้น เพื่อทำความเข้าใจ รู้สึก และเรียนรู้ชีวิตของมนุษย์
  • กิจกรรมอ่านมนุษย์ครั้งล่าสุด จัดขึ้นเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา มีหนังสือมนุษย์มากกว่า 10 เล่ม เช่น หญิงข้ามเพศ คนหูตึง คนไร้บ้าน หมอนวด วินมอเตอร์ไซค์ แม่ค้าหาบเร่ เป็นต้น 
  • การรับฟังถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างความเข้าใจให้เกิดขึ้นระหว่างคนในสังคม ซึ่งจะนำไปสู่การเคารพความแตกต่างของกันและกัน เช่นเดียวกับหยุดยั้งปัญหาการตีตราเหมารวมกลุ่มคนบางกลุ่ม พร้อมกับสร้างเมล็ดพันธุ์ “ความเข้าอกเข้าใจ” (Empathy)

จะเป็นอย่างไรหากเรามีโอกาสได้ “รับฟัง” กันอย่างแท้จริง?

ในโลกที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งและปัญหา ทุกอย่างรอบตัวดำเนินไปอย่างรวดเร็วและเร่งรีบ ราวกับว่ามนุษย์จะไม่มีแม้แต่ช่วงเวลาให้ตัวเองได้หยุดนิ่ง เพื่อรับฟังและทำความเข้าใจเพื่อนมนุษย์ที่อยู่ร่วมกันในสังคม และหลายครั้งที่นั่นนำไปสู่การตัดสินและตีตรากัน ส่งผลให้มนุษย์ต้องเผชิญกับความเจ็บปวดทั้งทางร่างกายและจิตใจอย่างต่อเนื่อง

.

ทว่า “อ่านมนุษย์” กิจกรรมที่ก่อตั้งขึ้นโดยธนาคารจิตอาสา และความสุขประเทศไทย ได้เปิดโอกาสให้ทุกคนได้มารับฟังกันอย่างเปิดใจและไร้อคติ เปรียบเรื่องราวชีวิตของปัจเจก ผู้เป็นสมาชิกตัวเล็ก ๆ ในสังคม ให้เป็นหนังสือเล่มหนึ่ง และให้คนทั่วไปได้ลองเปิดหู เปิดใจ และเปิดอ่าน (รับฟัง) เรื่องราวเหล่านั้น เพื่อทำความเข้าใจ รู้สึก และเรียนรู้ชีวิตของมนุษย์ที่ดูเหมือนจะอยู่ห่างไกลกับชีวิตเราคนละโลก และบางครั้งเราอาจเผชอตัดสินพวกเขาเหล่านั้นโดยไม่รู้ตัว แม้จะไม่เคยได้นั่งรับฟังและพูดคุยเรื่องราวของพวกเขาเลยก็ตาม

อย่าตัดสินหนังสือจากปก

“อ่านมนุษย์” ถือเป็นกิจกรรมที่ได้รับเสียงตอบรับจากประชาชนคนทั่วไปเป็นอย่างดี ในทุกครั้งที่มีการจัดขึ้น โดยรูปแบบกิจกรรมจะเปิดพื้นที่ให้บุคคล 2 กลุ่มที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน ได้พูดคุยและเปิดใจรับฟังกันอย่างเปิดใจ ไร้การตีตราและตัดสินกันจากรูปลักษณ์ภายนอกของแต่ละคน โดยกลุ่มหนึ่งคือ “หนังสือ” หรือบุคคลที่มีเรื่องราวของตัวเองและอยากให้คนในสังคมเข้าใจพวกเขามากขึ้น ขณะที่อีกกลุ่มคือ “ผู้อ่าน” ซึ่งเป็นคนในสังคมที่อยากเรียนรู้และเข้าใจมุมมองและความรู้สึกของหนังสือมนุษย์เหล่านั้น

.

เพราะการเท่าทันความเชื่อ รวมไปถึงการก้าวข้ามอคติของตัวเอง จะเกิดขึ้นได้จากการที่มนุษย์มีโอกาสได้พูดคุยและรับฟังเพื่อนมนุษย์อย่างเปิดใจ ธนาคารจิตอาสาและความสุขประเทศไทยจึงพัฒนากิจกรรมอ่านมนุษย์นี้ขึ้น พร้อมนำรูปแบบ “การฟังอย่างลึกซึ้ง” (Deep listening) และ “การสะท้อนตัวตน” (Self-reflection) มาผสมผสานกัน เพื่อให้มนุษย์ได้เข้าถึงความรู้สึกของกันและกันอย่างแท้จริง

.

หนังสือมนุษย์แต่ละเล่มล้วนเป็นเรื่องราวของมนุษย์ที่ถูกสังคมตัดสินเหมารวม และเป็นคนตัวเล็กของสังคมที่แทบจะไม่มีสิทธิ์เสียงในการต่อรองใด ๆ เพื่อเรียกร้องให้เกิดการดูแล ทั้งในเรื่องสวัสดิการชีวิตหรือทางกฎหมาย ซึ่งกิจกรรมอ่านมนุษย์ครั้งล่าสุด จัดขึ้นเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา มีหนังสือมนุษย์มากกว่า 10 เล่ม เช่น หญิงข้ามเพศ คนหูตึง คนไร้บ้าน หมอนวด วินมอเตอร์ไซค์ แม่ค้าหาบเร่ เป็นต้น

.

เสียงสะท้อนจากหนังสือ

“พี่ชไมพร” ผู้หญิงที่ผ่านความรุนแรงในครอบครัว เป็นหนึ่งในหนังสือมนุษย์ของกิจกรรมครั้งนี้ สะท้อนว่า การพูดคุยสามารถช่วยให้บรรเทาความเจ็บปวดที่อัดแน่นอยู่ในหัวใจได้ การมาเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้จึงเป็นสิ่งที่ทำให้เธอรู้สึกดีใจ ที่อย่างน้อยก็สามารถส่งพลังบวกให้กับคนอื่นที่มีโอกาสได้รับฟังเรื่องราวของเธอ

.

“เมื่อก่อนพี่จะไม่ค่อยพูดถึงเรื่องราวความรุนแรงที่พี่เจอ เพราะพูดไม่ออก มันเหมือนเราทำร้ายตัวเองซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่พี่เพิ่งมาพูดได้เมื่อตอนที่ตัวเองสามารถลุกขึ้นยืน และสร้างความเชื่อมั่นในตัวเองขึ้นมาได้ ทำให้ช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมานี้ พี่สามารถเอาเรื่องราวที่พี่เคยผ่านมาพูดได้ ซึ่งการที่เราสามารถพูดเรื่องราวของตัวเองออกมาได้ บางครั้งก็อาจจะรู้สึกบาดเจ็บบ้าง แต่มันดีนะ เพราะเวลาที่เราพูด มันช่วยให้เราบรรเทาความเจ็บปวดไปด้วย การเปล่งเสียงออกมาทำให้เรารู้สึกว่า สิ่งที่ติดค้างแน่น ๆ อยู่ในหัวใจของเรา มันค่อย ๆ หลุดออกมา”

.

“วันนี้ตอนที่นั่งเล่าเรื่อง พี่ก็อยากให้คนฟังได้เห็นว่าชีวิตมีความหวัง เราอย่าสิ้นหวัง ก็ส่งพลังใจให้เขา ซึ่งน้องคนที่ได้ฟัง เขาก็สะท้อนว่าพอได้ฟังเรื่องของพี่ เขาก็รู้สึกมีพลังมากขึ้น เพราะเขารู้แล้วว่าในสังคมนี้ ยังมีคนที่เจออะไรมากกว่าเขาอีกเยอะ คนเหล่านั้นยังลุกขึ้นสู้ได้ แล้วทำไมน้องเขาจะลุกขึ้นสู้ไม่ได้ พี่ก็รู้สึกดีใจมาก ที่เห็นว่าเรื่องราวของพี่สามารถสร้างพลังให้เขาได้จริง ๆ”

รีวิวจากผู้อ่าน

“นูรีดา” หญิงสาวจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เล่าถึงเหตุผลที่เธอเข้าร่วมเป็นหนึ่งในผู้อ่านหนังสือมนุษย์ในครั้งนี้ ว่าเป็นเพราะรู้สึกสนใจกิจกรรมอ่านมนุษย์ ที่เน้นเรื่องการไม่ตีตราคน เนื่องจากเธอเป็นคนในพื้นที่สามจังหวัดที่มักจะถูกตีตราว่าเป็นกลุ่มหัวรุนแรงเสมอ ทั้ง ๆ ที่คนอื่นยังไม่เคยมาพูดคุยหรือรับฟังคนในพื้นที่จริง ๆ เลยด้วยซ้ำ

.

“เราได้คุยกับพี่ผู้หญิงที่ผ่านความรุนแรงมา ตอนแรกเราคิดว่าเหตุการณ์ต้องเศร้าแน่เลย แล้วเราก็จะต้องเศร้ากับมันมาก ๆ แต่มันกลับกันเลย พอได้ฟัง เรารู้สึกว่าการที่เขาได้เจอความรุนแรง แล้วยังสามารถลุกขึ้นมาสู้ต่อได้ แถมยังไปช่วยเหลือสังคมอีก เราว่ามันเป็นความโชคดีของเขา และคนรอบข้างของเขาก็ดีมาก ๆ ด้วยเช่นกัน คือเราได้เรียนรู้เลยว่าเราไม่สามารถไปตัดสินอะไรคนอื่นได้เลย สิ่งที่เราคิดว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยและอาจจะไม่ได้เลวร้ายในสายตาของเรา อาจจะเป็นเรื่องที่สุดแสนจะเลวร้ายคน ๆ หนึ่งก็ได้” 

.

“อีกอย่างที่ได้คือพลังบวก คือเรารู้สึกว่าเราเบื่อ เราหมดไฟ เราต้องเจออะไรซ้ำ ๆ เดิม ๆ เราไม่อยากทำงาน ไม่อยากตื่น แต่พอได้ยินเรื่องราวของเขา เราถึงได้รู้ว่าคนอื่นก็มีเรื่องราวเยอะแยะเลย ทำไมเขาถึงผ่านมันมาได้ เรื่องร้าย ๆ ที่เขาผ่านมาได้ กลับสร้างความภาคภูมิใจให้กับเขา แล้วเขายังส่งต่อพลังบวกให้คนอื่นด้วย เราเลยรู้สึกว่าการเข้ากิจกรรมนี้มันพลิกความคิดของเรา ว่าเราต้องทำให้ได้เหมือนเขา” นูรีดาบอก

เช่นเดียวกับ “ออด๊าซ” ที่มาร่วมเป็นผู้อ่านเช่นกัน ก็ระบุว่าได้เลือกหมอนวด เพราะตัวเองเกิดคำถามในใจทันทีที่เห็นหน้าปก ว่าเป็นหมอนวดแบบไหน แต่ความที่ไม่อยากตัดสินใคร เธอจึงเปิดใจให้ตัวเองได้ลองเข้าไปรับฟังเรื่องราวชีวิตของหมอนวด ที่ในเวลาปกติของชีวิต เธอคงไม่มีโอกาสได้คุยกับเขาอย่างลึกซึ้งเหมือนในกิจกรรมครั้งนี้

.

“หนังสือเล่มนี้สอนให้เรารู้ว่า เขาเป็นคนที่สู้ชีวิตมาก ๆ เลย เขาทำหลายบทบาท ไม่ใช่แค่เป็นหมอนวด แต่ยังเป็นสาวโรงงาน พนักงานทำความสะอาด แล้วยังเป็นแม่เลี้ยงเดียวด้วย เรื่องราวของเขาสร้างแรงบันดาลใจในการสู้ชีวิตให้ดับเราได้ดีมาก ๆ” ออด๊าซเล่า

.

ไม่ต่างจาก “Bookbig” ชายหนุ่มที่เลือกอ่านคนไร้บ้าน ที่ตัดสินใจเข้าร่วมกิจกรรมเพราะความรู้สึกว่าสังคมขาดการรับฟังกัน โดยเฉพาะในยุคที่ความรวดเร็วทำให้มนุษย์มีเวลา “เสพ” เรื่องราวของคนอื่นน้อยลง

“กิจกรรมนี้มันตะโกนมาหาผม มันตะโกนดัง ๆ เลยว่าให้ฟัง ทั้ง ๆ ที่มันก็เป็นแค่การฟังเท่านั้น แต่ผมรู้สึกว่า ยุคนี้ทุกคนต้องการที่จะพูด อยากจะนำเสนอ หรือด้วยค่านิยมที่ต้องโพสต์ ต้องพูดออกไป แล้วก็ด้วยความเร็วที่ตัวเรามีเวลาเสพเรื่องราวของคนอื่นน้อยลงด้วย มันเลยทำให้ผมรู้สึกว่า ถ้าเป็นแบบนี้ แล้วใครจะเป็นคนฟัง ก็เลยเป็นเหตุผลที่อยากเข้ามา แล้วก็อยากมาเรียนรู้ด้วย แล้วอีกหนึ่งเหตุผลคืออยากเอาตัวเองมาอยู่ในประสบการณ์ที่ทุกคนกำลังเดินเข้ามาเพื่อรับฟังกัน”

“ผมได้เข้าใจมุมมองของคนที่เล่าเรื่องราวให้เราฟัง ก่อนหน้านี้แค่รับรู้ว่ามีคนกลุ่มนี้อยู่ในสังคม แต่ผมไม่ได้เข้าถึงความรู้สึก ว่าเขารู้สึกอย่างไร หรือเขาต้องการอะไร คือมันมีความทำตัวไม่ถูกเวลาเจอ ซึ่งวันนี้ผมได้เข้าใจความรู้สึกของเขา และได้รู้สึกว่าหลังจากนี้เราจะปฏิบัติต่อเขาในฐานะเพื่อนมนุษย์คนหนึ่งได้อย่างไรบ้าง” bookbig กล่าว

การรับฟังเพื่อสร้างความเข้าใจ

“การฟังช่วยสร้างความเข้าใจได้มาก ถ้าเราฟังจริง ๆ ฟังในแบบที่ไม่มีเงื่อนไข ฟังโดยไม่มีตัวเองอยู่ในนั้น ฟังโดยที่ไม่ผสมอะไรเข้าไป เป็นการฟังที่เราอยู่กับเขา แล้วก็แค่นั่งฟังเท่านั้น” Bookbig สะท้อน

.

การรับฟังถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างความเข้าใจให้เกิดขึ้นระหว่างคนในสังคม ซึ่งจะนำไปสู่การเคารพความแตกต่างของกันและกัน เช่นเดียวกับหยุดยั้งปัญหาการตีตราเหมารวมกลุ่มคนบางกลุ่ม พร้อมกับสร้างเมล็ดพันธุ์ “ความเข้าอกเข้าใจ” (Empathy) เมื่อคนต่างที่มาได้มาเจอ ปฏิสัมพันธ์ สัมผัส และรับฟังความเป็นมนุษย์ของกันและกัน โดยไม่ใช่เพื่อหาข้อมูลหรือข้อโต้แย้ง แต่เป็นการแลกเปลี่ยนกันแบบมนุษย์ต่อมนุษย์ เป็นการเปิดรับและเรียนรู้เรื่องราวของคนตรงหน้าโดยไม่มีอคติ

.

“กิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมที่ทำให้เราเห็นว่า การที่เราฟังใครสักคนอย่างลึกซึ้ง ไม่ตีตราคนอื่น หรือเข้าใจความรู้สึกจริง ๆ ทำให้เราสามารถนำเรื่องราวที่เราได้จากคน ๆ หนึ่ง ที่ตอนแรกเราอาจจะคิดว่ายังไงก็ไปในทางลบแน่นอน มาเป็นพลังบวกให้กับชึวิตของเราเองได้” นูรีดาชี้

.

“การฟังที่จะสร้างความเข้าใจได้คือ เราต้องไม่ตัดสิน เราต้องวางอคติของเราลงก่อน แล้วเราจะเข้าใจกันมากขึ้นจริง ๆ แค่เราเปิดใจของเราให้ได้ แล้วจะทำยังไงถึงจะวางอคติของเราลงได้ เราแค่ต้องคิดว่า คนเราผ่านอะไรมาไม่เหมือนกัน เราไม่ชอบให้คนอื่นตัดสินเรา เราก็อย่าไปตัดสินคนอื่น แค่นั้นเลย” ออด๊าซกล่าวปิดท้าย

.

เรื่อง : ณัฐฐฐิติ คำมูล

ภาพ : ฉัตรมงคล รักราช

ภาพประกอบ : อุษา แม้นศิริ